PraKrueng.com

สมาชิกเข้าสู่ระบบ
ชื่อผู้ใช้งาน  
รหัสผ่าน  
ลืมรหัสผ่าน สมัครสมาชิก
หน้าแรก รายการพระเครื่อง ร้านพระเครื่อง ประมูลพระเครื่อง ลงประกาศฟรี การชำระเงิน ติดต่อเรา
สมัครสมาชิกฟรี คลิกที่นี่
พระกรุ [111]
พระเหรียญ [6258]
พระเนื้อผง/ดิน [2169]
พระรูปหล่อ [772]
พระบูชา [125]
พระเนื้อชิน [11]
เครื่องรางของขลัง [434]
ล็อกเก็ต [69]
พระปิดตา [181]
อื่นๆ [65]
ผู้เข้าชมทั้งหมด [20083860]
สมาชิกทั้งหมด [416]
ร้านพระเครื่องทั้งหมด [259]
พระเครื่องทั้งหมด [10195]
ประมูลทั้งหมด [25]
ลงประกาศฟรีทั้งหมด [1499]
วิธีการประมูล
ราคา Bid Card
สนใจลงโฆษณาคลิกที่นี่

ค้นหา พระเครื่อง ร้านพระเครื่อง ประมูลพระเครื่อง ลงประกาศฟรี
Arrow เหรียญท้าวสุรนารี (โม) รุ่นแรก พ.ศ. 2477
เหรียญท้าวสุรนารี (โม) รุ่นแรก พ.ศ. 2477

       

                                                                                                       

เหรียญท้าวสุรนารี (โม) พ.ศ.๒๔๗๗

                                                                                                 

               วัตถุมงคลประเภทเหรียญหลักของจังหวัดนครราชสีมา ที่มีความนิยมสูงและหายากที่สุดในปัจจุบัน คือ เหรียญท้าวสุรนารี (โม) รุ่นแรก พ.ศ.๒๔๗๗ นอกจากจะมีพุทธคุณดีเด่นทุกด้านแล้วลักษณะของเหรียญยังมีเอกลักษณ์พิเศษ คือ เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดขนาดพอเหมาะกับการมีไว้ติดทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะความสวยงามประณีตของตัวเหรียญยากที่จะหาเหรียญอื่นงามเสมอเหมือนได้ทีเดียว

                เหรียญท้าวสุรนารี (โม) รุ่นแรกนี้ จังหวัดนครราชสีมา ได้สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในโอกาสที่ข้าราชการ และพ่อค้าประชาชนชาวนครราชสีมา ร่วมแรงร่วมใจสร้างอนุสาวรีย์ท่านท้าวสุรนารีประดิษฐานบริเวณหน้าประตูชุมพล เพื่อประกาศเกียรติคุณยิ่งใหญ่ของวีรสตรีไทยในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

                ท้าวสุรนารี เดิมชื่อ โม (คุณหญิงโม) เป็นภริยาพระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ์ทศพิศวิชัยปลัดเมืองนครราชสีมา เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๔ ที่บ้านตรงข้ามวัดพระนารายณ์ (วัดกลางนคร) อำเภอเมืองนครราชสีมา ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๕ รวมอายุ ๘๑ ปี

                เมื่อพุทธศักราช ๒๓๖๙ เจ้าอนุรุทธราช ผู้ครองนครเวียงจันทร์ ได้ยกทัพมาตีเมืองไทยโดยตีหัวเมืองรายทางได้มาตลอด จนกระทั่งถึงเมืองนครราชสีมา ขณะนั้นเจ้าเมืองและปลัดเมืองไม่อยู่  เจ้าอนุรุทธราช จึงตีเมืองนครราชสีมาได้ เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๓๖๙ และกวาดต้อนผู้คนชาวเมืองนครราชสีมา เดินทางกลับเมืองเวียงจันทน์

                ในระหว่างเดินทางจะไปเมืองเวียงจันทน์ ขณะที่พักแรมอยู่ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ ท้องที่อำเภอโนนสูง ติดต่อกับอำเภอพิมาย คุณหญิงโมภริยาปลัดเมืองได้ใช้กลอุบายต่าง ๆ  จนเป็นเหตุให้ทหารของเจ้าอนุรุทธราชที่ควบคุมไปไว้วางใจอย่างสนิท ครั้นแล้วจึงได้รวบรวมชายหญิงได้หลายร้อยคน ร่วมใจกันจับอาวุธเข้าโจมตีทหารที่ควบคุม ซึ่งมีกำลังทหารประมาณ ๒,๐๐๐ คน ล้มตายไปจำนวนมาก ส่วนที่เหลือก็แตกหนีกระจัดกระจายไปสิ้น

                ครั้นเจ้าอนุรุทธราชทราบเหตุ ได้จัดส่งทหารม้าเร็วประมาณ ๕๐ คน ออกไปล่าลาดตระเวนสืบเหตุการณ์ แต่ปรากฏว่าทหารม้าเร็วทั้ง ๕๐ คน ได้ถูกฆ่าล้มตายไปเกือบหมด เจ้าอนุรุทธราช จึงได้สั่งให้สุทธสารเป็นนายทัพ รีบนำทหารเดินเท้าประมาณ ๓,๒๐๐ คน ทหารม้าอีกประมาณ ๔,๐๐๐ คน ยกทัพไปทำการปราบปราม ได้เกิดการต่อสู้กับชาวเมืองนครราชสีมา ภายใต้การนำของคุณหญิงโมที่ทุ่งสัมฤทธิ์ อย่างสาหัสถึงขั้นตลุมบอน ในที่สุดชาวเมืองนครราชสีมาซึ่งมีกำลังน้อยกว่า หากแต่มีความสามัคคี และความกล้าหาญเป็นยอดเยี่ยมจึงเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะอย่างงดงาม และผลของการพ่ายแพ้ในครั้งนี้เป็นเหตุให้เจ้าอนุรุทธราชเลิกล้มความตั้งใจที่จะนำทหารไปโจมตีกรุงเทพมหานคร ตามที่ได้ความมุ่งหมายไว้เดิม เพราะเกรงว่าถ้าหากกองทัพไปตีกรุงเทพมหานครแล้วอาจถูกกองทัพทางเมืองนครราชสีมา ยกไปช่วยเป็นศึกกระหนาบได้ จึงได้รีบถอยกองทัพกลับไปเมืองเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๓๖๙

                เมื่อวีรกรรมที่คุณหญิงโมได้กระทำไปแล้วทั้งหมดได้ทรงทราบถึงใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงประกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโมให้ดำรงฐานันดรศักดิ์เป็น “ท้าวสุรนารี” พร้อมด้วยพระราชทานเครื่องยศทองคำเป็นบำเหน็จแก่คุณงามความดี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาปลัดเมืองนครราชสีมาผู้เป็นสามีเป็นเจ้าพระยามหิศราธิบดี หลังจากนั้นประชาชนชาวไทยทั้งปวงได้ยกย่องท่านในฐานะวีรสตรีของชาติไทย คุณงามความดีที่ท่านได้ช่วยรักษาประเทศชาติไว้ครั้งนี้ เป็นที่เลื่องลือเป็นเกียรติแก่ชาวจังหวัดนครราชสีมาเป็นอันมาก

                ท่านท้าวสุรนารีไม่มีบุตรสืบตระกูล ท่านถึงอสัญกรรมด้วยความชราภาพสงบระงับไปตามวัยของสังขาร ณ จวนของท่านที่เมืองนครราชสีมา เมื่อปีชวด พ.ศ.๒๓๙๕ สวามีของท่านได้ทำการฌาปนกิจสรีระของท่านที่วัดศาลาลอย ซึ่งเป็นวัดที่ท่านสร้างพร้อมด้วยสวามีของท่าน เมื่อเสร็จการประชุมเพลิง สวามีของท่านได้ก่อเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ที่วัดศาลาลอย ถึงเทศกาลสงกรานต์ทุก ๆ ปี สวามีของท่านพร้อมด้วยบุตรหลานและวงศ์ญาติได้ไปทำการบำเพ็ญกุศลที่วัดนั้น อุทิศส่วนกุศลส่งให้ท่านท้าวสุรนารีตามประเพณีนิยมเสมอมา

                ครั้นต่อมาเมื่อ พล.ต.พระยาสิงหเสนีศรีสยาเมนทรมหาสวามิภักดิ์ (สะอาด สิงหเสนี) ขณะเมื่อมียศและบรรดาศักดิ์เป็น พ.อ.พระยาประสิทธิ์ศัลการ ได้มาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลนครราชสีมา ปกครองบังคับบัญชาทั้งทหารและพลเรือน พล.ต.พระยาสิงหเสนี ท่านคงได้ทราบอย่างตระหนักใจถึงสติปัญญาความแกร่งกล้า ความสามารถอย่างอาจหาญในการรบที่ทุ่งสัมฤทธิ์ และเกียรติคุณอันสูงส่งเด่นของท่านท้าวสุรนารีอย่างถ่องแท้และเห็นเป็นเยี่ยงอย่างอันดีสำหรับปวงชน ต่อไปภายหน้าควรจะรู้และดูเอาเป็นเยี่ยงอย่างไว้ประกอบกรณียกิจสำหรับตนและประเทศชาติให้เป็นผลดีสืบไป ท่านจึงสละทรัพย์สินส่วนตัวของท่านสร้างกู่รูปสี่เหลี่ยมสี่คูหามียอดอย่างยอดเจดีย์ขึ้นที่มุมวัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลางนคร) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ทิศพายัพ) พร้อมทั้งทำสีมาศิลาจารึก แล้วทำบุญเลี้ยงพระและมีมหรสพฉลองทั้งนี้เพราะวัด ศาลาลอยในขณะนั้นได้ร้างลง ไม่มีพระภิกษุอยู่

                กู่ที่สร้างขึ้นนี้อยู่ใกล้กับสี่แยกประจักษ์ มีถนนอัษฏางค์ และมีถนนประจักษ์ไปตัดที่ตรงมุมวัดพอดี ทั้งนี้เพื่อให้ปวงชนได้เห็นถนัด อยู่ใกล้ทางจะได้เตือนตาเตือนใจแก่ผู้ที่สัญจรไปมาว่า นี้แหละอนุสาวรีย์วีรชนผู้ที่ได้ทำคุณงามความดีเด่น ให้แก่ชาติบ้านเมืองอันเป็นประโยชน์ใหญ่ยิ่งในกาลที่แล้วมามาก และจะได้ไม่มีวันเลือนลบหายไปจากโลกนี้ตราบเท่าฟ้าดินสลาย

                ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ ทางราชการโดยพระยากำธรพยัพทิศ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ร่วมกับพันเอกพระเริงสุดปัจจามิตร ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๓ และประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา ได้ร่วมกันจัดสร้างอนุสาวรีย์ของท่านขึ้นใหม่โดยย้ายมาประดิษฐานที่หน้าประตูชุมพล หล่อด้วยทางสัมฤทธิ์เหนือฐานคอนกรีตสร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๔๗๗ และได้ประกอบพิธีเชิญดวงวิญญาณ เชิญอัฐิท่านท้าวสุรนารีขึ้นประดิษฐ์ฐานยังอนุสาวรีย์ทั้งได้มีพิธีฉลองอย่างมโหฬารที่สุดในภาคอีสานและจัดเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้ คือ มีงานฉลองอนุสาวรีย์ท่านท้าวสุรนารี ๗ วัน ๗ คืน เริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๓ มีนาคม ซึ่งถือว่าเป็นวันแห่งชัยชนะในการกู้อิสรภาพสืบต่อมา

                ในปี พ.ศ.๒๕๑๐ ฐานอนุสาวรีย์ชำรุดข้าราชการและประชาชนชาวนครราชสีมาได้ร่วมใจกันสร้างฐานแท่นขึ้นใหม่ ณ ที่เดิมสร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๐ แล้วอัญเชิญอนุสาวรีย์ท่านท้าวสุรนารีรับประดิษฐาน ณ แท่นฐานใหม่นี้มีพิธีบวงสรวง และจัดขบวนแห่เฉลิมฉลองอย่างสมเกียรติรวม ๓ วัน นับตั้งแต่วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๐ ถึงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๑๐ สถิต ณ แท่นฐานนี้สืบมาจนถึงทุกวันนี้

                ในการจัดสร้างอนุสาวรีย์ท่านท้าวสุรีนารี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ดังกล่าว ทางจังหวัดนครราชสีมาได้จัดสร้างเหรียญท่านท้าวสุรนารี รุ่นแรก พ.ศ.๒๔๗๗ เป็นพิมพ์สี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด มีเนื้อทองคำ เงิน ทองแดง ขึ้นเป็นที่ระลึก และแจกแก่ผู้มาร่วมงานโดยทั่วกัน พิธีการจัดสร้างเหรียญรุ่นแรกของท่านท้าวสุรนารี พ.ศ. ๒๔๗๗ นี้ ได้จัดทำพิธีขึ้นที่วัดสุทธจินดา โดยท่านสมเด็จมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) สมัยนั้นท่านเป็นเจ้าคณะจังหวัดฝ่ายธรรมยุตินิกายอยู่ที่วัดสุทธิจินดา ได้เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ทำการสร้างและปลุกเสกเหรียญดังกล่าวปรากฏว่าเหรียญท่านท้าวสุรนารีรุ่นดังกล่าวนี้ เป็นที่เคารพสักการบูชาของชาวเมืองนครราชสีมาและผู้สนใจจังหวัดอื่น ๆ เป็นอย่างมาก ปัจจุบันนี้เหรียญรุ่นนี้หาบูชากันได้ยากและมีราคาค่าบูชาสูงมาก สมควรที่ผู้สนใจจะได้เสาะแสวงหาไว้บูชาเป็นอย่างยิ่ง


 
เมื่อ 31 มีนาคม 2556 เข้าชม 11703 ครั้ง
 
หน้าแรก | รายการพระเครื่อง | ประมูลพระเครื่อง | วิธีการประมูล | ราคา BID CARD | อัตราค่าพื้นที่โฆษณา | เว็บเพื่อนบ้าน

สนใจลงโฆษณาคลิกที่นี่
Copyright 2013© www.prakrueng.com
ศูนย์รวมร้านพระเครื่องมาตรฐาน
ที่อยู่ อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา
โทร. -
Email webmaster@prakrueng.com